ความเป็นฮินดู บนดินแดนแห่งทวยเทพ เกาะบาหลี

 

ความเป็นฮินดู บนดินแดนแห่งทวยเทพ เกาะบาหลี




ถ้าพูดถึงบาหลี คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก บาหลีเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ชายหาดที่คราครั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทุ่งนาป่าเขาเขียวขจี และวิถีชีวิตที่มีมนต์เสน่ห์ของความเป็นฮินดูแบบบาหลี ผู้คนที่นี่ยังคงดำรงชีวิตที่ผูกพันธ์กับวัด มองไปทางไหนก็จะเห็นวัดฮินดูแทบทุกที่บนเกาะ ที่มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับบาหลี


แต่วันนี้ผู้เขียนจะมาพูดถึงการตั้งชื่อของชาวบาหลีที่เกี่ยวโยงกับวรรณะที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูจากอินเดีย ที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของชาวบาหลี คนบาหลีจะตั้งชื่อลูกหลานของตนตามวรรณะของแต่ละครอบครัว บทบาทของวรรณะในปััจจุบันก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก แต่การตั้งชื่อตามวรรณะเกิดก็ยังมีให้เห็นทั่วไป




ชาวบาหลีจะมีวัฒนธรรมการตั้งชื่อ มีการจำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ จำแนกตามวรรณะ ตามเพศสภาพ และลำดับการเกิด เพื่อนๆคงสงสัยกันแล้ว เรามาดูกันเลยครับ


1. ตั้งชื่อตามวรรณะแบบบาหลี

ด้วยความที่ชาวบาหลีนับถือฮินดู การแบ่งวรรณะคงเป็นเรื่องปกติของศาสนานี้ แต่ละวรรณะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปตามความสำคัญของแต่ละบุคคล ชาวบาหลีฮินดูแบ่งวรรณะออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่


1. วรรณะพราหมณ์ ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า Brahmana (บระห์มานา)

วรรณะพราหมณ์เป็นชนชั้นวรรณะสูงสุด ผู้คนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ไม่ใช่เป็นสามัญชนธรรมดา พวกเขาเหล่านี้คือคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศาสนาหรือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของผู้นำทางศาสนา


โดยปกติแล้วผู้นำศาสนาจะมีสถานที่พำนักแห่งหนึ่งที่เรียกว่า Griya (กรีญา) แต่เนื่องด้วยกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป คนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์บางคนเลือกที่จะทำงานในด้านอื่นๆ ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำศาสนาในวรรณะของตน ถึงอย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังมีฐานะทางสังคมในแบบวรรณะพราหมณ์เช่นเดิม


ชื่อตามวรรณะพราหมณ์ ได้แก่ Ida bagus (อีกา บากุส) สำหรับผู้ชาย และ Ida Ayu (อีดา อายู) หรือ Dayu (ดายู) สำหรับผู้หญิง


ตัวอย่างเช่น :-

Ida Bagus Putu Tantra บางครั้งย่อเป็น IB Putu Tantra (สำหรับผู้ชาย)

Ida Ayu Komang Saraswati (สำหรับผู้หญิง)


2. วรรณะกษัตริย์ ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า Kesatria (กือซัตตรีญา)

คนที่เกิดในวรรณะกษัตริย์มีหน้าที่ปกครองและปกป้องบ้านเมือง ได้แก่ ข้าราชการ ทหาร และกษัตริย์รวมถึงเชื่อพระวงศ์ด้วย) คนที่เกิดในวรรณะนี้จะมีที่พำนักอยู่บริเวณรอบๆปราสาทของบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันคนที่เกิดในวรรณะนี้ไม่เพียงแต่ทำงานเกี่ยวกับการปกครองเท่านั้น บางคนทำงานต่างประเทศ ทำงานในแขนงต่างๆ เช่น ดีไซเนอร์ นักแสดง และอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าเกิดในวรรณะนี้ต้องทำงานแค่ในด้านการปกครอง ความเป็นฮินดูบาหลีไม่ได้เน้นวรรณะอย่างเคร่งครัดเหมือนในอินเดีย เขามีสิทธิเสรีภาพในการทำงานในแบบฉบับของตน


ชื่อตามวรรณะกษัตริย์ ได้แก่ Anak Agung (อานักอากุง) ใช้สำหรับผู้ชาย และ Anak Agung Ayu/Istri ใช้สำหรับผู้หญิง หรือย่อเป็น Gung (กุง) / Cokorda (โจโกรฺดา) ใช้สำหรับผู้ชาย และ Cokorda Istri ใช้สำหรับผู้หญิง ย่อเป็น Cok (จ๊ก) / Desak (ดือซัก)


ตัวอย่างเช่น :-

Anak Agung Raka Sidan (ผู้ชาย)

Anak Agung Ayu Maharani atau Anak Agung Istri Maharani (ผู้หญิง)


3. วรรณะไวศยะหรือแพศย์ ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า Waisya (ไวชา)

วรรณะแพศย์หรือไวศยะ จะทำการเกษตรและการค้า อาจจะเป็นการค้าทั่วไปหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่


ชื่อตามวรรณะไวศยะ ได้แก่ Gusti bagus (กุสตี-บากุส) สำหรับผู้ชาย และ Gusti Ayu (กุสตี-อาญู) สำหรับผู้หญิง / Ngakan (งากัน) / Si (ซี) / Sang (ซัง) / Kompyang (กม-ปยัง) อย่างไรก็ตามชื่อที่บอกมาข้างต้นนั้น ไม่ค่อยมีคนใช้กันแล้ว เนื่องจากว่ามีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับวรรณะศูทรได้อย่างกลมกลืน


ตัวอย่างเช่น :-

Gusti Bagus Sidan (ผู้ชาย)

Gusti Ayu Maharani (ผู้หญิง)


4. วรรณะศูทร ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า Sudra (ซู-ดรา)

วรรณะศูทรเป็นวรรณะที่อยู่ต่ำสุด คนที่เกิดในวรรณะศูทรมีหน้าที่ทำงานเป็นแรงงานรับใช้สามวรรณะข้างต้น แต่ด้วยการเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย คนที่เกิดในวรรณะศูทรจะนับว่าคนงานและชาวสวนอยู่ในวรรณะศูทรก็ได้ วรรณะศูทรจะไม่มีชื่อเรียกที่สื่อถึงวรรณะของตน แต่จะมีการตั้งชื่อตามลำดับการเกิดแทน




2. ตั้งชื่อตามลำดับการเกิด

การตั้งชื่อตามลำดับการเกิดก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรมฮินดูบาหลี แต่จะมีการเรียกชื่อตามลำดับการเกิดของชาวบาหลีมีแค่ 4 ลำดับเท่านั้น


ลูกคนแรกจะตั้งชื่อนำหน้าว่า Wayan (วายัน), Putu (ปูตู), หรือ Gede (เกอเด) โดยทั่วไปแล้วชนชั้นสูงมักจะใช้ชื่อนำหน้าว่า Putu มากกว่า


ลูกคนที่สอง : Made (มาเด) มาจากคำว่า Madya (มัดยา) แปลว่ากลาง, Kade (กาเด), Kadek (กาเด๊ก) บางหมู่บ้านก็จะใช้คำว่า Nengah (เนองะห์)


ลูกคนที่สาม : Nyoman (โญมัน), Komang (โกมัง) มาจากคำว่า Anom (อานม) แปลว่า หนุ่มหรือสาว


ลูกคนที่สี่ : ใช้คำว่า Ketut (เกอตุ๊ด) - Ketut มาจากคำว่า Ketuwut (เกอตูวุต) แปลว่า ปฏิบัติตาม


แล้วถ้ามีลูกมากกว่า 4 คนล่ะ จะตั้งชื่อนำหน้าว่าอะไร? ง่ายๆเลยครับ วนกลับไปยังชื่อแรกแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ


ตัวอย่างการตั้งชื่อตามลำดับเกิด :-

ในการแยกชื่อสำหรับผู้ชายและผู้หญิง คือการเติมคำว่า I (อี) สำหรับผู้ชาย และ Inu (อีนู) สำหรับผู้หญิง วางไว้หน้าชื่อที่เกิดจากลำดับการเกิด ดังนี้


I Wayan Pastika, I Putu Pastika (ลูกชายคนแรก)

Ni Made Suasti, Ni Kadek Suasti (ลูกสาวคนที่สอง)

I Nyoman Pica, I Komang Pca (ลูกชายคนที่สาม)

Ni Ketut Luh (ลุกสาวคนที่สี่)

I Wayan Balik Pastika (ลูกชายคนที่ห้า)

" โดยปกติแล้วถ้ามีลูกมากกว่าสี่คน ถ้านับย้อนจะเติมคำว่า Balik เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น "





3. ตั้งชื่อตามเพศสภาพ

และรูปแบบสุดท้ายก็คือการตั้งชื่อตามเพศสภาพ เหมือนกับที่ผู้เขียนยกตัวอย่างข้างต้น คือการเติม I (อี) แทนเพศชาย และ Nu (นู) แทนเพศหญิง


รู้อย่างนี้แล้ว ถ้ามีเพื่อนหรือรู้จักคนบาหลีก็พอจะเดาได้ว่าเขามาจากวรรณะไหนโดยที่เราไม่จำเป็นต้องถามเขาให้เสียมารยาทเลย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับเพื่อนๆชาวนักอ่านที่ชอบแนววัฒนธรรมที่หลากหลาย


My Page On Blockdit https://www.blockdit.com/MyPage

My Fanpage Facebook : ทั่วอินโด Seantero Indonesia



แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น